postsnook - วาไรตี้ ข่าวสาร สาระบันเทิง ลงโฆษณาฟรี สมัครสมาชิก | เข้าสู่ระบบ   Check Page Rank
postsnook   พื้นที่ลงโฆษณา
หน้าแรก » ข่าวเศรษฐกิจ สังคม » เปิดมุมมอง ค้าน หนุน กนง.ลดดอกเบีย 0.25
เปิดมุมมอง ค้าน หนุน กนง.ลดดอกเบีย 0.25
โพสต์เมื่อ 22 มีนาคม 2558 15:52:40 น. เข้าชม 1024 ครั้ง
แวดวงการเงิน- การคลัง ไม่พ้นกรณีภาษีบ้าน-ที่ดิน และคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายภาษีบ้าน ที่ดินนั้น โดนพับไปเรียบร้อยจากบัญชาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ในส่วนของกนง. ที่ก่อนหน้านี้กะเก็งกันว่าเมื่อไหร่จะ ลดดอกเบี้ยที่ยืนอยู่ 2% มานานนับปีแล้ว ท่ามกลางเสียง เรียกร้องทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้ปรับลงเสียทีเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งไป

หลังจากเสียงเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา มีมติเสียงส่วนใหญ่ 4 ต่อ 3 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 1.75%

การลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ ต้องเรียกว่าเว้นช่วงจากการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดเกือบปี

หนล่าสุดคือการประชุมครั้งที่ 2/2557 ที่ลดลง 0.25% จาก 2.25% เหลือ 2%

หลังจากนั้น กนง.คงอัตราดอกเบี้ยมารวม 7 ครั้ง แม้ว่าจะมีเสียงสะท้อนให้ลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคการส่งออกเป็นระยะๆ ก็ตาม

นายเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการ กนง. กล่าวถึงเหตุผล ที่ตัดสินใจลดดอกเบี้ยว่า มาจากสัญญาณเศรษฐกิจใน ช่วงไตรมาส 4/2557 และช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.2558 ที่ยัง ไม่ฟื้นตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ยังไม่กระเตื้อง สอดคล้องกับการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังไม่เป็นไปตามอย่างที่คาด

"เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวค่อนข้างช้า แรงส่งทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนน้อยกว่าคาด ส่วนหนึ่งเนื่องจากความเชื่อมั่นของภาคเอกชนลดลง เศรษฐกิจในระยะต่อไปยังมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราต่ำกว่าที่ประเมินไว้"

เลขานุการ กนง. กล่าวอีกว่า สำหรับการส่งออกสินค้าคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่คาด แต่มีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าโดยเฉพาะจีน ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องซึ่งจะช่วยชดเชยอุปสงค์ในประเทศได้บางส่วน

คณะกรรมการ 4 เสียงจึงเห็นว่านโยบายการเงินควรผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจและพยุงความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ส่วนคณะกรรมการอีก 3 เสียง ยังมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ 2% ยังถือว่าผ่อนปรนเพียงพอต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ควรรักษานโยบายการเงินไว้สำหรับเวลาที่จำเป็น และมีประสิทธิผลมากกว่าปัจจุบัน

นายเมธีให้เหตุผลส่วนตัวว่า แม้ว่าจะลดดอกเบี้ยลงไปแล้ว แต่ก็เชื่อว่าจะไม่เป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก อีกทั้ง ธปท.ยังมีกระสุนเพียงพอ ที่จะใช้ดูแลเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ส่วนการลดดอกเบี้ยถ้าจำเป็นก็ต้องทำบ้าง ไม่เช่นนั้นกระสุนที่มีอยู่จะด้าน โดยการลดดอกเบี้ยล่าสุดส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยไทยเกือบต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคโดยเป็นรองแค่ประเทศสิงคโปร์

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภูมิภาคเอเชียจะพบว่าประเทศสิงคโปร์มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ในอัตราต่ำสุดที่ 0.39% ไทยอัตราอยู่ที่ 1.75% ไต้หวัน 1.875% เกาหลีใต้ 2% มาเลเซีย 3.25% ฟิลิปปินส์ 4% จีน 5.35% เวียดนาม 6.50% อินโดนีเซีย และอินเดีย อยู่ที่ 7.50%

ต่อข้อเรียกร้องของภาคการส่งออกที่ต้องการให้ ธปท. ลดอัตราดอกเบี้ย โดยคาดหวังให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือ จากผลการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ กนง.ยังยืนยันว่าไม่ได้เป็นการลดดอกเบี้ยเพื่อดูแลภาคการส่งออกเป็นพิเศษ แต่เป็นการลดเพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในภาพรวมมากกว่า

ขณะที่ในแต่ละประเทศในภูมิภาคทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลให้เกิดแรงกดดันให้ต้องลดตามหรือไม่นั้น มองว่าแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกันไปและต่างก็มีเหตุผลของตัวเองในการปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งการที่ไทยปรับลดดอกเบี้ยก็มีสาเหตุจากความจำเป็นของไทยเอง

อย่างไรก็ดี ยังยืนยันว่าเสถียรภาพระบบการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ดี ภาวะเงินทุนไหลเข้า-ออกยังปกติ การซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ยังเป็นปกติ แต่ต้องติดตามผลกระทบจากความเสี่ยงที่อาจสะสมจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (Search for yield) ภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน

เป้าหมายของการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ จึงเป็นการ "กระตุ้นบรรยากาศ" ทางเศรษฐกิจให้มากระเตื้องอีกครั้ง หลังจากที่ชัดเจนแล้วว่าการใช้จ่ายภาคเอกชนยังไม่เข้าฝัก หากปล่อยไว้ย่อมเกิดแรงกระเพื่อมต่อระบบเศรษฐกิจที่ขยายตัวไม่เข้าเป้า

พร้อมกับการปรับลดดอกเบี้ยครานี้มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี มองว่าจะช่วยอุตสาหกรรมส่งออกของไทย เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง และจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับลงทำให้ค่าเงินบาทไม่แพง ทำให้มีความหวัง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลักที่จะทำให้การส่งออกดีขึ้นอยู่ที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ในตอนนี้ ทั้ง ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ซึ่งยังไม่ฟื้นตัว

ส่วน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่ กนง. ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.75% ถือเป็นการส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยตลาดไปยังธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นจึงต้องติดตามดูว่าการปรับลดดอกเบี้ยลง ครั้งนี้จะส่งผ่านไปยังธนาคารพาณิชย์พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เมื่อไร ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อต้นทุนของผู้ประกอบการจะลดลงตามไปด้วย

"กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.75% ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะช่วยดูแลให้เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ ไม่แข็งค่าหรืออ่อนค่าผันผวนมากเกินไป ทำให้ภาคเอกชนรู้สึกดีเพราะต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการลดลง

โดยเฉพาะผู้ประกอบการส่งออกที่เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากเป็นห่วงว่าค่าเงินบาทอาจมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะต่อไป หลังธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ดำเนินนโยบายอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจส่งผลให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทยมากขึ้น 

ในส่วนของฝ่ายไม่เห็นด้วยนำโดยนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง มองว่า ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีนัย ซึ่งหากจะให้มีผลการลดดอกเบี้ยต้องมีความต่อเนื่อง

"จากการที่ความเห็นคณะกรรมการที่ 4 ต่อ 3 เสียงนั้นทำให้ตลาดคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือไม่ ไม่เหมือนกับความเห็นเอกฉันท์หรือเสียงส่วนใหญ่ให้ลดดอกเบี้ยลง เท่าที่ดูยังพูดไม่ได้หรือมั่นใจได้ว่าดอกเบี้ยลดแค่เท่านี้จะอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาลง ถ้าสัญญาณไม่ชัดการลดดอกเบี้ยก็ไม่มีผลอะไรมากมาย"

นายสมหมายมองอีกว่าการลดดอกเบี้ยของ กนง.น่าจะมาจากความกดดันของภาคสังคมที่ต้องการให้ลดดอกเบี้ยอย่างมาก รวมถึงป้องกันปัญหาเรื่องเงินทุนไหลเข้า จากมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) ในหลายๆ ประเทศ ดังนั้นที่ระบุว่าลดดอกเบี้ย เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจโตช้าจึงเป็นเพียงข้ออ้าง เพราะเห็นชัดอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจจะโตน้อยกว่าที่คาด

เช่นเดียวกับนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ แสดงความไม่เห็นด้วยที่ กนง. ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.75% จาก 2% เพราะเชื่อว่าไม่ได้ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลง เนื่องจากดอกเบี้ยไม่ใช่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจนำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดทุนและตลาดเงินของไทย

"การลดดอกเบี้ยจึงไม่ได้ช่วยชะลอการไหลเข้าของเงินทุนมากนัก และไม่ได้ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงตามที่คาดหวังไว้"



ส่วนตัวเข้าใจว่า การที่ กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพราะภาครัฐต้องการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเกิดการลงทุน และให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แต่ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยจะเป็นไปในทิศทางขาขึ้นหรือลงก็ตามต้องใช้เวลาในการส่งผลไปยังระบบเศรษฐกิจ จะไม่ส่งผลได้ในระยะสั้น ในทางกลับกันอาจเป็นสัญญาณที่ทำให้สินเชื่อภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นได้
TAG : กนง ลดดอกเบี้ย,
แจ้งลบ
พื้นที่ลงโฆษณา
 
ข่าวที่เกียวข้อง »
เปิดมุมมอง ค้าน หนุน  กนง.ลดดอกเบีย 0.25   เปิดมุมมอง ค้าน หนุน กนง.ลดดอกเบีย 0.25
ไปรษณีย์ไทย เตรียมส่งตัว รถตู้นำจ่าย EMS   ไปรษณีย์ไทย เตรียมส่งตัว รถตู้นำจ่าย EMS
เร่งเบิกจ่ายงบปี 57-58 อัดฉีดเงินฟื้นศก   เร่งเบิกจ่ายงบปี 57-58 อัดฉีดเงินฟื้นศก
กรมศุลฯ สรุปยอดขายทอดตลาดรถยนต์ของกลาง   กรมศุลฯ สรุปยอดขายทอดตลาดรถยนต์ของกลาง
พาณิชย์ยันสหรัฐฯ ไม่แบนสินค้าไทย   พาณิชย์ยันสหรัฐฯ ไม่แบนสินค้าไทย
ขนส่งทางบกเดินหน้าจัดระเบียบรถแท๊กซี่ตามนโยบาย คสช   ขนส่งทางบกเดินหน้าจัดระเบียบรถแท๊กซี่ตามนโยบาย คสช
อธิบดีกรมศุลฯ ยันหาแนวทางลดราคาสลาก 80 บาทไม่ได้   อธิบดีกรมศุลฯ ยันหาแนวทางลดราคาสลาก 80 บาทไม่ได้
postsnook  
Copyright © 2012 postsnook All right reserved
นโยบายการให้บริการ ติดต่อลงโฆษณา ติดต่อเรา เว็บเพื่อนบ้าน
ทำเว็บราคาถูก